คนไทยเป็นใคร มาจากไหน ในแผนที่ประวัติศาสตร์ (สยาม) ประเทศไทย(รายงานการเสวนา)
วันศุกร์ที่ 14 ก.ย. งานเสวนา ‘คนไทยเป็นใคร มาจากไหน ในแผนที่ประวัติศาสตร์ (สยาม) ประเทศไทย’ ถูกจัดขึ้นโดยสำนักคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช.) ร่วมกับ คณะโบราณคดี และสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยศิลปากร เพื่อสร้างการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความเข้าใจในเรื่องของประวัติศาสตร์ สังคมและวัฒนธรรมของคนไทยตั้งแต่สมัยอดีตกาล และคล้ายกับเป็นการเปิดตัวหนังสือ ผู้ก่อตั้งนิตยสารศิลปวัฒนธรรม เป็นบรรณาธิการ ที่จะนำไปให้สำนักงาน หน่วยงานหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องนำไปใช้ในการเผยแพร่เป็นความรู้สาธารณะต่อไป
หนังสือเล่มนี้เป็นการมองประวัติศาสตร์ประเทศไทยโดยอธิบายผ่าน ‘แผนที่’ แบบรื้อ ‘มุมมองเก่า’ ที่เคยถ่ายทอดความทรงจำ ‘ความเป็นไทย’ ชุดดั้งเดิมผ่าน ‘แผนที่’ ของนายทองใบ แตงน้อย ที่แทบไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขมาก่อน หลังจากที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเริ่มต้นปูทางสร้าง ‘ประวัติศาสตร์ไทย’ เป็นต้นมา
แม้ว่า สุจิตต์ วงษ์เทศ จะเคยกล่าวเอาไว้ว่า ‘อย่าเพิ่งเชื่อ’ ทุกอย่างที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้ แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่าหนังสือเล่มนี้ได้สร้างเป็นกรอบ โครงสร้างหรือเป็นอีกหลักไมล์หนึ่งทางการศึกษาประวัติศาสตร์ (สยาม) ประเทศไทย ที่ท้าทายให้วงการวิชาการต้องหันกลับมาศึกษาเรื่องนี้กันใหม่อย่างละเอียดมากๆ อีกครั้ง
ขอเกริ่นเบื้องต้นก่อนเข้าสู่เนื้อหาในการอภิปรายว่า ภาพรวมของ หนังสือ ‘แผนที่ประวัติศาสตร์ (สยาม) ประเทศไทย’ แบ่งเนื้อหาออกเป็นสามส่วนใหญ่ๆ คือ
ส่วนแรก มองภาพรวมของสุวรรณภูมิโดยเฉพาะประเทศไทย แยกออกเป็น 11 บท ในแต่ละบทจะประกอบไปด้วยเรื่องราวตั้งแต่สมัย 5,000 ปีก่อน เรื่อยมาจนถึง พ.ศ.2400 ซึ่งเป็นยุคปัจจุบัน เนื้อความในแต่บทจะเล่าเรื่องราวและพัฒนาของคนไทยตั้งแต่เริ่มมีชุมชน จนไปถึงการเป็นรัฐประชาชาติประชาธิปไตย จนได้ชื่อว่าเป็นประเทศไทย
ส่วนที่สอง บอกเล่าเรื่องราวของ 4 ภาคของไทย คือ ภาคเหนือ (โยนก-ล้านนา) ภาคกลาง (ที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา) ภาคใต้ (คาบสมุทรแหลมทอง) และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ลุ่มแม่น้ำโขง-ชี-มูล) จะเห็นพัฒนาการของแต่ละภาคในเรื่องของสังคม และวัฒนธรรม และให้ความสำคัญกับบริเวณที่เป็นศูนย์กลางของแต่ละภาค ทำให้เห็นพัฒนาการที่ไม่เท่าเทียมกันของแต่ภาคอย่างชัดเจน
ส่วนที่สาม เป็นการเปรียบเทียบวัฒนธรรมต่างๆ ในโลกรวมถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในยุคสมัยต่างๆ ดังนั้น หากมองในภาพรวมของหนังสือเล่มนี้แล้ว นอกจากจะเดินไปบนเส้นทางของการทำความรู้จักตัวเองมากยิ่งขึ้นแล้วยังรับรู้ไปถึงเรื่องราวและวัฒนธรรมของโลกที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นๆ อีกด้วย
งานเสวนาในครั้งนี้ยังมีส่วนของการวิพากษ์ทั้งตัวหนังสือเองและอภิปรายต่อไปถึงคำถามสุดคลาสสิกเรื่อง ‘คนไทยมาจากไหน’ คนไทยมาจากเทือกเขาอันไตหรือว่าอยู่ที่นี่มานานแล้ว ซึ่งมีวิทยากรอย่าง ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รศ.สุรพล นาถะพินธุ คณบดีคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร อ.สถาพร ศรีสัจจัง (พนม นันทพฤกษ์) ศิลปินแห่งชาติ และผู้อำนวยการสถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ สงขลา รศ.สายชล สัตยานุรักษ์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ รศ.ดร.ดารารัตน์ เมตตาริกานนท์ สาขาประวัติศาสตร์และโบราณคดี คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มาร่วมแลกเปลี่ยนอภิปราย
ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เริ่มต้นกล่าวเกี่ยวกับเรื่องคนไทยเป็นใคร มาจากไหน ว่า
ถ้ามีใครสักคนถามคำถามนี้ ซึ่งคงจะมีสติไม่ค่อยดีที่ถาม คนส่วนใหญ่ก็จะตอบว่า “ไม่รู้สิ เป็นใครมาจากไหน” แต่ถ้าถามนักเรียน นิสิต นักศึกษา ซึ่งมีคะแนนกำกับอยู่ จะตอบว่า
“คนไทย คือ คนที่พูดภาษาไทย นับถือศาสนาพุทธ มีเชื้อชาติไทย และรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และอาจะแถมด้วยการบอกว่าเป็นคนดีมีคุณธรรม พร้อมที่จะตอบแทนคุณแผ่นดิน”
แล้วถ้ามีการคะยั้นคะยออีกก็จะตอบว่า
“มาจากภูเขาอันไต และอาณาจักรน่านเจ้า แล้วสุโขทัย อยุธยา รัตนโกสินทร์”
ดร.ชาญวิทย์ จึงตั้งข้อสังเกตว่า ตกลงคำตอบมีตายตัวอยู่แล้ว บางคนอาจคิดว่าคำถามและคำตอบแบบนี้เชยไปแล้วก็ได้จึงน่าจะเลิกถามและเลิกตอบ แต่ว่าทั้งคำถามและคำตอบนี้ได้ปรากฏอยู่ในหนังสือของ ‘ทองใบ แตงน้อย’ ที่ได้กล่าวไว้ว่า คนไทยมีพัฒนาและเริ่มขึ้นจากภูเขาอันไต ในมองโกเลีย เหนือแม่น้ำฮวงโห และเหนือกำแพงเมืองจีน
ตั้งแต่เมื่อ 5,000 ปีมาแล้ว คนไทยได้อพยพลงมาตั้งถิ่นฐานอยู่ระหว่างแม่น้ำฮวงโหและแม่น้ำแยงซี จนถูกคนจีนรุกรานจึงอพยพมาตั้งอาณาจักรน่านเจ้า อยู่ได้ไม่นานก็ถูกจีนและมองโกเลียรุกราน ก็เลยต้องมาตั้งอาณาจักร สุโขทัย อยุธยา รัตนโกสินทร์
“อันนี้คือสิ่งซึ่งสร้างขึ้นมาโดย ทองใบ แตงน้อย ซึ่งสิ่งเหล่านี้เปรียบเสมือนโปรแกรมสำเร็จรูปที่ฝังลงไปในหัวของเรา” ดร.ชาญวิทย์ กล่าวและอธิบายต่อไปว่า
ต่อมาคนไทยก็สร้างอาณาจักรสุโขทัยจนเป็นอาณาจักรที่กว้างใหญ่กินพื้นที่ไปจนถึงมะละกาและสิงคโปร์ เรื่องนี้เป็นโปรแกรมที่ใส่เข้าไปในหัวของเยาวชนด้วยเพราะ ‘แผนที่’ นี้ได้บรรจุลงในแบบเรียน
จากอาณาจักรสุโขทัยก็เรื่อยลงมาจากถึงอาณาจักรอยุธยา ในสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชประเทศไทยใหญ่ยิ่ง มาจนถึงสมัยธนบุรีและรัตนโกสินทร์ที่ยิ่งใหญ่ แต่พอมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ก็เสียดินแดน ในหนังสือของทองใบ แตงน้อย บรรจุไว้เลยว่าไทยเสีย 12 จุไทย
ถ้าถามว่า ทองใบ แตงน้อย ไปเอาข้อมูลเหล่านี้มาจากไหน คาดว่าคงเอามาจากขุนวิจิตรมาตรา และหลวงวิจิตรวาทการ ทั้งนี้ ขุนวิจิตรมาตรา เป็นผู้ที่ชนะเลิศในการเขียนเรื่องหลักไทย พ.ศ.2471 ซึ่งเขียนบอกไว้ว่า “คนไทยมาจากเทือกเขาอันไต”
ต่อมา เมื่อมีการคิดต่อไปว่าขุนวิจิตรมาตรานำเรื่องราวเหล่านี้มีจากไหน คำตอบที่ได้ คือ “ได้มาจากหลวงวิจิตรวาทการ” ซึ่งเป็นคนเขียนประวัติศาสตร์สากล 5 เล่ม เป็นทางเดินของความรู้และเรื่องราวของคนไทยมาจากไหน ถ้าไล่ข้อมูลต่อไปอีกจะพบว่าหลวงวิจิตรวาทการนำข้อมูลเหล่านี้มากจากสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพที่เขียนไว้ในพระนิพนธ์คำนำของพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ซึ่งคนส่วนใหญ่จะไม่ค่อยได้อ่านเพราะข้ามไปอ่านเรื่องในสมัยของสมเด็จพระนเรศวร
อย่างไรก็ตาม ดร.ชาญวิทย์ ระบุว่า ส่วนของคำนำของพระราชพงศาวดารฯ เป็นส่วนที่สำคัญมาก เขียนไว้ในปี พ.ศ.2457 สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพกล่าวว่า “คนไทยในเมืองจีนนั้นคือเมืองไทยเดิม กล่าวโดยสรุปเมื่อสมัยอยุธยา หรือสมัยต้นรัตนโกสินทร์ เราไม่รู้จักเทือกเขาอันไต ไม่รู้จักอาณาจักรน่านเจ้า จนกระทั่งเมื่อลัทธิอาณานิคมได้แผ่อิทธิพลเข้ามา ลัทธิอาณานิคมอังกฤษและฝรั่งเศสที่เข้ามาพร้อมความรู้ทางวิชาการแบบใหม่ๆ ที่ว่าด้วยภาษาศาสตร์ มานุษยวิทยา โบราณคดี ฯลฯ นักวิชาการเหล่านี้ก็ได้จัดแบ่งกลุ่มคนแล้วได้มีเขียนเรื่องน่านเจ้า เทือกเขาอันไต”
คนไทยในส่วนต่างๆ รวมทั้งสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นคนไทยรุ่นแรกที่มีโอกาสได้เรียนหนังสือกับพวกฝรั่งและได้รับข้อมูลเหล่านี้ จนในที่สุดได้มาปรากฏอยู่ในประวัติศาสตร์พงศาวดารสยามนับตั้งแต่นั้นมา ความรู้เรื่องคนไทยมาจากภูเขาอันไต น่านเจ้า อยุธยา สุโขทัย และรัตนโกสินทร์ใช้เวลาเดินทางมาร่วมร้อยปี ความรู้แบบนี้ถูกสร้างขึ้นและฝังลึกอยู่ในสมองของเรา ยากแก่การเอาออกและลบเลือน
นอกจากนี้ ดร.ชาญวิทย์ ยังได้กล่าวถึงข้อแตกต่างระหว่างประวัติศาสตร์ของทองใบ แตงน้อย และ สุจิตต์ วงษ์เทศ ไว้อย่างชัดเจนอีกว่า
ในหนังสือเล่มนี้ มี 11 บท ในบทแรกสุจิตต์ ขึ้น 5,000 ปีแรก มีชุมชนคนดึกดำบรรพ์สุวรรณภูมิ บรรพบุรุษคนไทยและคนอุษาคเนย์ ซึ่งสุจิตต์ใช้วิธีเหมารวม แล้วก็นำเอาหลักฐานทางโบราณคดีมา เช่นหลักฐานว่าด้วยบ้านเก่าบ้าง บ้านเชียงบ้าง บอกว่านี่มีคนอาศัยอยู่ แต่เราไม่รู้ว่าเขาเป็นคนไทยหรือเปล่า เพราะยังไม่มีภาษาที่สามารถจารึกได้
พอบทที่สอง 4,000 ปี ถอยมาเรื่อยๆ มนุษย์ในแถบนี้รู้จักถลุงโลหะ ทำเครื่องมือ เครื่องใช้แทนเครื่องมือหินที่เคยใช้แต่เดิม มีศาสนา คือ นับถือ ผี นับถือดินฟ้า
4,000 ปี เริ่มมีชุมชนถลุงเหล็ก เติบโตเป็นบ้านเมือง บนเส้นทางการคมนาคมทางบกและทางทะเล มีแผนที่ในการประกอบการอธิบายเหมือนกับ ทองใบ แตงน้อย แล้วก็ขยับมาประมาณหลัง พ.ศ.1 เป็นสุวรรณภูมิมีการเชื่อมโยงระหว่างตะวันออกกับตะวันตก หมายความว่าจากด้านทะเลจีน กับมหาสมุทรอินเดีย แล้วก็มีแผนที่และชุมชนต่าง ๆ
เมื่อ พ.ศ.500 มีรัฐเล็กๆ รับพระพุทธศาสนา มีพราหมณ์ มีผี เป็นบรรพบุรุษของคนที่นี่ แล้วก็มีแผนที่อีก
หลัง พ.ศ.1000 รัฐใหญ่ในสุวรรณภูมิ เริ่มเข้าเรื่องราวของความเป็นไทย เป็นต้นทางของประวัติศาสตร์สยาม ประเทศไทย
ดูไปจนถึงบทที่ 7 หลัง พ.ศ.1500 รัฐพื้นเมือง เริ่มควบคุมการค้าด้วยตัวเอง มีภาษาซึ่งเป็นภาษาการค้า คือ ชวา มลายูและ ไทย ลาว ซึ่งเป็นภาษาที่ใหญ่มาก จนทำให้คนอื่นหันมาใช้ภาษานี้กันเยอะมาก ทำให้มีรัฐใหญ่เกิดขึ้น
หลัง พ.ศ.1700 มีความเปลี่ยนแปลงโดยมีการเกิดขึ้นของศาสนามวลชน ซึ่งศาสนามวลชนนี้แปลว่าอิสลาม พุทธศาสนาแบบเถรวาท ในขณะที่ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู นั้นเป็นศาสนาของชนชั้นปกครอง ซึ่งจุดนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการแพร่ของศาสนามวลชน แล้วในขณะเดียวกันก็จะมีอักษรไทยและคนไทย
หลัง พ.ศ.2000 มีกรุงศรีอยุธยา ศูนย์กลางการค้านานาชาติ เรียกประเทศว่าเมืองไทย เรียกตัวเองว่า คนไทย แล้วสุจิตต์ก็ไล่มาหลัง พ.ศ.2300 เป็นกรุงธนบุรี กรุงรัตนโกสินทร์ ราชอาณาจักรสยาม จนกระทั่งหลังพ.ศ.2400 เกิดรัฐประชาชาติประชาธิปไตย ยกเลิกชื่อสยาม ใช้ชื่อประเทศไทย นี่คือเส้นทางของ ‘สุจิตต์ วงษ์เทศ’ เมื่อเทียบกับของ ‘ทองใบ แตงน้อย’
จากนั้น ดร.ชาญวิทย์ วิเคราะห์เพื่อสรุปว่า สุจิตต์ได้ “ทำอะไร และไม่ได้ทำอะไร”
ถ้านำมาเทียบกับประวัติศาสตร์ของทองใบ แตงน้อย แนวการเขียนของทองใบจะเป็นการเขียนประวัติศาสตร์ด้วยการใช้แผนที่เป็นกรอบ คือ แผนที่ประเทศไทยปัจจุบันเป็นกรอบ เพราะฉะนั้นอันนี้เป็นประวัติศาสตร์ไทยในกรอบแผนที่ประเทศไทย และทัศนคติ อุดมการณ์ในการเมืองนั้นเป็นประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยม และเสนาอำมาตยาธิปไตย เป็นชาตินิยมในรูปแบบของพระราชากับบรรดาเหล่าเสนาอำมาตย์ทั้งหลาย นี่คือ ประวัติศาสตร์ในแนวของทองใบ แตงน้อย
ส่วนของคุณสุจิตต์ สิ่งที่พยายามทำก็คือ การเขียนประวัติศาสตร์โดยใช้แผนที่ ซึ่งเป็นประชาชาตินิยม เพราะฉะนั้นในแง่นี้สุจิตต์ใช้มากกว่าทองใบ แตงน้อยใช้ คือ การนำโบราณคดีอันเป็นการใช้หลักฐานบางอย่างที่อยู่ใต้ดินซึ่งมีการขุดค้นอยู่บ่อยๆ นับตั้งแต่ทศวรรษ 1960 หรือ ประมาณ 40-50 ปีที่ผ่านมา มาใช้ในแผนที่ประวัติศาสตร์ โดยบวกกับหลักฐานด้านมานุษยวิทยา ซึ่งจุดนี้ สุจิตต์มีฐานข้อมูลที่ทันสมัยทำให้งานมีความหลากหลายที่ทำให้เห็นความหลากหลายทางชาติด้านชาติพันธ์เด่นชัดมาก และยังนำเอาประวัติศาสตร์มาเป็นกรอบในการวางแผนที่
อย่างไรก็ตามแม้จะเห็นได้ชัดเจนว่างานของสุจิตต์ ใช้ทั้งมานุษยวิทยาและประวัติศาสตร์ใส่เข้าไปในแผนที่ของเขาที่ทำให้เห็นมากกว่าแผนที่ของทองใบ แตงน้อย แต่ก็ยังเป็นเวอร์ชั่นที่ไม่เป็นแบบประชาชาตินิยมเสียทีเดียว เพราะยังมีกลิ่นอายของราชาชาตินิยม และอำมาตยาราชาธิปไตยอยู่
ดังนั้นหนังสือ “แผนที่ประวัติศาสตร์ (สยาม) ประเทศไทย” เล่มนี้คงเป็นเพียงกรอบหรือโครงที่ยังไม่มีเนื้อหาที่ชัดเจน ยังต้องการการศึกษาใหม่อย่างละเอียด ปัญหาที่เกิดจากการอ่านหนังสือเล่มนี้ คือ
1.ต้องทำการศึกษาถึงที่มาของคนไทยใหม่ เพราะแทบจะไม่มีใครเชื่อแล้วว่าคนไทยเดินจากเทือกเขาอันไตซึ่งอยู่ในกำแพงเมืองจีน มาจนถึงประเทศไทยในปัจจุบันได้
2.จะต้องศึกษาแผนที่ซึ่งเป็นวิวัฒนาการสมัยใหม่ ซึ่งเกิดขึ้นมากับลัทธิจักรวรรดินิยม มาจากการค้นพบวิทยาการใหม่ๆ ของชาวต่างชาติที่ได้เข้ามาในเมืองไทย ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้
3.ในการศึกษาแผนที่ประวัติศาสตร์จะต้องใช้ทฤษฎีเป็นตัวส่องนำทาง งานสองชิ้นที่จะช่วยเป็นทฤษฎีในการส่องทางนั้น ก็คือ งานที่เกี่ยวกับรัฐชาติและลัทธิชาตินิยม ในหนังสือที่ชื่อว่า Imagined Community โดย Benedict Anderson และหนังสือ Siam Map ของ อ.ธงชัย วินิจกูล เพื่อที่จะเข้าใจงานของทองใบ แตงน้อย และงานของสุจิตต์ วงศ์เทศ ในจุดที่ว่าทำไมงานของทองใบ จึงมีการกล่าวว่าไทยมีการเสียดินแดน 5-6 ครั้ง แต่งานของสุจิตต์กลับไม่มีตรงนี้ จึงทำให้ควรต้องมีการศึกษากันใหม่อย่างละเอียดอีกครั้ง
สำหรับนักวิชาการอีกท่านหนึ่งที่ได้มาให้มุมมองในเรื่องนี้จากหลักฐานทางโบราณคดีที่ปรากฏในประเทศไทย คือ รศ.สุรพล นาถะพินธุ คณบดีคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้กล่าวว่า ‘คน (ไทย) อาจจะอยู่ที่นี่ เริ่มต้นที่นี่ไม่ได้มาจากเขาอัลไต’ เพราะ พบส่วนกระโหลกของออสตราโลพิเธคัส ที่เกาะคา จ.ลำปาง อายุนับแสนปี หรือ พบโฮโมซาเปียนที่ถ้ำลอด จ.แม่ฮ่องสอนอายุ 12,000ปี และพบอารยธรรมอื่นๆ กระจายไปทั่วในหลายพื้นที่
ช่วงเวลาที่เกิดหมู่บ้านเกษตรกรรมนั้น โครงสร้างทางสังคมมีการแยกแยะตามแบบลักษณะของที่มาอย่างชัดเจน นอกจากนี้ยังมีการปรากฏขึ้นของวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นพร้อมหมู่บ้านเกษตรกรรมก็คือ การติดต่อแลกเปลี่ยนผลผลิตระหว่างกัน ทำให้พบเครื่องประดับที่ทำจากเปลือกหอยทะเลที่เหมือนๆ กันในหลายพื้นที่ ทั้งในภาคเหนือ ภาคอีสาน หรือภาคกลาง
“เห็นได้ชัดว่ามีการติดต่อ ปฏิสัมพันธ์กันทั้งโดยตรง และโดยอ้อม ทำให้เห็นถึงการแบ่งแยกสถานะทางสังคมอย่างเด่นชัด โดยของที่ได้มาจากที่อื่นจะเป็นของที่หายากเป็นตัวแปรกำหนดให้เกิดความแตกต่าง เมื่อผู้ใดมีจะทำให้ดูมีฐานะมากกว่าผู้อื่น ทำให้เกิดสังคมที่เป็นไปในลักษณะซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ สิ่งหนึ่งที่เป็นหลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญทำให้เห็นถึงการติดต่อแลกเปลี่ยนค้าขายกัน อันเป็นปัจจัยทำให้เกิดพัฒนาการทางสังคม ก็คือ ได้พบว่าในช่วงประมาณ 3,000-3,500 ปีมาแล้ว ในพื้นที่บางแห่งของประเทศไทย เกิดชุมชนที่มีความสามารถในการทำงานหัตถกรรมบางอย่าง และผลิตสิ่งของบางอย่างที่บางชุมชนต้องการ เช่น มีเหมืองทองแดงยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่พลูโล้น และในบริเวณใกล้ๆ เขาวงพระจันทร์ จ.ลพบุรีได้พบแหล่งถลุงทองแดงยุคก่อนประวัติศาสตร์มากกว่าแสนตัน
“พื้นที่ที่เป็นตลาดสำคัญของทองแดงจากบริเวณเขาวงพระจันทร์นั้น สันนิษฐานว่าจะเป็นบริเวณภาคอีสานของไทย และบริเวณประเทศเพื่อนบ้าน เพราะพบของใช้ที่ทำจากทองแดงมากมาย จะเห็นว่าการปฏิสัมพันธ์กันนั้นกินพื้นที่ไกลมาก นำมาซึ่งพัฒนาการของสังคมที่มีสถานะแตกต่างกันเริ่มชัดเจนมากขึ้น”
รศ.สุรพล กล่าวต่อไปว่า เมื่อศึกษาจากของใช้ของคนแต่ละภาคของไทยทำให้เห็นถึงวัฒนธรรมบางประการที่แตกต่างกัน ในช่วงระยะเวลานี้มีกลุ่มชาติพันธุ์อยู่หลายกลุ่มด้วยกัน อาจจะพูดภาษาที่แตกต่างกัน แต่เมื่อพื้นที่ต่างๆ มีปฏิสัมพันธ์กันก็ทำให้เกิดพัฒนาการไปพร้อมๆ กัน
จนในช่วง 2,500 ปี มาแล้ว พัฒนาการทางเทคโนโลยีที่สำคัญ คือมีการผลิตเหล็กและกระจกมากมาย อีกทั้งเกิดวัฒนธรรมที่มีที่มาจากแดนไกลในประเทศไทย วัฒนธรรมดังกล่าว เช่น อินเดีย จีนตอนใต้ เวียดนามตอนเหนือและตอนกลาง ผลที่ตามมาก็คือการเกิดชุมชนขนาดใหญ่ มีการแบ่งพื้นที่ภายในชุมชนอย่างชัดเจน โดยผู้มีอำนาจสูงสุดในชุมชนเป็นผู้แบ่งการใช้ประโยชน์พื้นที่ในระยะเวลานั้น กระบวนการในการแลกเปลี่ยนค้าขายมีการพัฒนาไปอีกในระดับหนึ่ง
ในช่วง 1,500-1,600 ปี มาแล้วประชากรในท้องถิ่นของไทยบางกลุ่มตัดสินใจที่จะรับศาสนาพุทธที่มาจากอินเดียมาเป็นศาสนาประจำชุมชน ทำให้เปลี่ยนกายภาพของชุมชนมาเป็นชุมชนขนาดใหญ่มาก มีการขุดคูล้อมรอบชุมชนจนกลายเป็นเมือง ประชากรเหล่านั้นได้กลายมาเป็นประชากรยุคประวัติศาสตร์ของไทย
เมื่อมองจากข้าวของเครื่องใช้ที่เห็นจากยุคประวัติศาสตร์ช่วงแรกๆ ในมุมมองของนักโบราณคดีเห็นว่าในบริเวณประเทศไทยปัจจุบันมีคนอาศัยอยู่นานแล้วตั้งแต่ ราว 5,000 ปี คือมีวัฒนธรรมที่เป็นต้นแบบของวัฒนธรรมปัจจุบันเกิดขึ้นมาก่อนแล้ว และกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นราว 5,000 ปีมาแล้วนั้น มีการเคลื่อนย้ายของกลุ่มคนในพื้นที่ออกไป แล้วมีการย้ายข้าวของกลุ่มคนจากต่างพื้นที่เข้ามา กระบวนการเคลื่อนย้ายแบบนี้เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ทำให้มีการผสมผสานของวัฒนธรรมเกิดขึ้น
ที่มา:http://blog.eduzones.com/tambralinga/3941